เวลา 10.22 น. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ทรงเปิดหอโหวดร้อยเอ็ด ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นหอสูงชมเมือง รูปทรงโหวด บนเนื้อที่ 124 ไร่ ความสูง 101 เมตร เทียบเท่าอาคารสูง 35 ชั้น โดยโหวด เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่คิดค้นและพัฒนา โดยนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2562 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน)<br />ในการนี้ ทอดพระเนตรภายในหอโหวด อาทิ พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องโหวด ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องพญาคันคาก ที่บอกเล่าถึงความเชื่อของชาวบ้านเรื่องพญาแถน หรือพญานาค ที่มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวนา นำมาสู่พิธีขอฝน และขอให้ฝนหยุดตก เมื่อได้รับน้ำฝนเพียงพอแล้ว โดยโหวดเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ประเภทเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ทำด้วยไม้ไผ่เฮี้ย เสียงของโหวดเกิดจากการเป่าลมผ่านรูด้านบนลูกโหวดที่มีความยาวต่างกันที่ติดรอบแกน ปัจจุบันมีรูปทรง 2 ลักษณะ คือ โหวดทรงกลม และโหวดแผง<br />จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปชั้น 35 ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี 2563 แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะ รวมทั้ง พระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 13.8 นิ้ว สร้างขึ้นเมื่อปี 2367 นอกจากนี้ ที่ฝาผนังและเพดาน ยังจัดแสดงภาพวาดเหล่าชุมนุมเทวดาที่มาฟังเสียงสวดมนต์ ภาพดาวเพดาน 11 ดวง ตามความหมายเมืองสาเกต หรือเมืองร้อยเอ็ด และภาพวาดรวมเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด<br />จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปชั้น 34 ซึ่งเป็นจุดชมวิวนอกอาคาร Outdoor แบบ 360 องศา มีส่วนบริเวณที่เป็นพื้นกระจก และเพิ่มกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสามารถนั่งกระเช้าห้อยลวดสลิงขึ้นลงหอโหวดได้อีกทาง ส่วนชั้น 33 ทอดพระเนตรนิทรรศการเคลื่อนที่ เรื่อง “มองสยาม ตามรอยพระปกเกล้า 2564" ซึ่งสถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยหอโหวด เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกวัน